วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

การพัฒนาหลักสูตร
1. นิยาม ความหมาย ของหลักสูตร (Defining Curriculum)
หลักสูตรภาษาอังกฤษใช้คำว่า “ Curriculum ” มีนักวิชาการทางการศึกษาได้ให้คำนิยามหรือความหมายของหลักสูตรไว้หลายทัศนะสรุปได้ว่า หลักสูตร หมายถึง มวลประสบการณ์ที่เป็นเนื้อหา สาระสำคัญ กิจกรรมต่างๆ ที่ออกแบบขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมาย ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข
 ที่มา http://www.kroobannok.com/blog/39838
2. ทฤษฎีหลักสูตร (Curriculum Theory) คือ ข้อความอธิบายความหมายหลักสูตร ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆชี้นำแนวทางการพัฒนาใช้และการประเมินผล แมคเซีย (Maccia ) ได้สร้างทฤษฎีหลักสูตรขึ้น 4 ทฤษฏี
 1. ทฤษฎีแม่บท ( Formal Curriculum Theory ) กล่าวถึงหลักการกฎเกณฑ์ทั่วๆไปตลอดถึงโครงสร้างหลักสูตร 2. ทฤษฎีเนื้อหา ( Curriculum Reality Theory ) ทฤษฎีเกี่ยวกับเนื้อหาและกล่าวถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ 3. ทฤษฎีจุดประสงค์ ( Volitional Curriculum Theory ) ทฤษฎีที่กล่าวถึงวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของหลักสูตร และกล่าวถึงว่าวัตถุประสงค์นั้นได้มาอย่างไร 4.วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างไร 
ในการสร้างทฤษฎีหลักสูตร เคอร์ (Kerr) กล่าวว่ามีวิธีการสร้างอยู่ 2 วิธีด้วยกัน 
คือ วิธีอนุมาน ( Deductive Approach )และวิธีอุปมาน 1. วิธีอนุมาน อาศัยความรู้จากศาสตร์อื่นมารวมกันเพื่อสร้างทฤษฎีขึ้นใช้วิธีการนำเอาสิ่งกับสมมติฐานและกฎเกณฑ์ในศาสตร์อื่นมา แล้วนำเอาศัพท์ทางการศึกษาใช้แทนลงไป เช่น ทฤษฎีแมคเซีย เป็นต้น 2. วิธีอุปมาน เป็นการรวมเอาทฤษฎีนี้บ้างมาผสมกันอาศัยข้อมูลที่สังเกตได้เป็นเครื่องชี้นำต่อไปก็ตั้งสมมติฐานและกฎเกณฑ์ที่จำเป็นในการสร้างและพัฒนาหลักสูตรขึ้น การวางแผนพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อและทฤษฎีต่างๆ ทางการศึกษา ซึ่งมีนักการศึกษาได้กำหนดไว้หลายแนวดังนี้ 
1. หลักสูตรเป็นวิชาและเนื้อหาวิชา ผู้มองหลักสูตรในแนวนี้คือ ผู้ที่ยึดลัทธิสัจนิยม ( Perennialism ) และสาระนิยม ( Essentialism ) เห็นว่าหลักสูตรในโรงเรียนควรประกอบด้วยวิชาที่สำคัญที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณลักษณะแห่งความเป็นมนุษย์และเป็นการฝึกสมอง 
2. หลักสูตรเป็นประสบการณ์ ยึดลัทธิก้าวหน้านิยม (Progressivism) เชื่อว่าวัฒนธรรมคือ สิ่งแวดล้อมของสังคม คนจะต้องยอมรับสภาพของสังคม ปรับสภาพของสังคมให้ดีขึ้น ยึดหลักนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยดูความสนใจของผู้เรียนเป็นหลักในการสอนและการจัดประสบการณ์ให้เขา
 3. หลักสูตรเป็นจุดประสงค์ ถือว่าการสอนเป็นหนทางอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่จุดประสงค์ที่กำหนด 
4. หลักสูตรเป็นแผนการ หลักสูตรคือแผนการที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เกิดจากความตั้งใจและคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเพ่งเล็งไปที่จุดมุ่งหมายของการศึกษา รวมถึงการจัดวางหลักสูตรไปใช้ในด้านการปฏิบัติคือ การสอนและการประเมินผลหลักสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น 5. 
หลักสูตรเป็นระบบการผลิต มองการศึกษาเช่นเดียวกับระบบการผลิตสินค้า คำนึงถึงทุนที่ได้ลงไปกับผลที่ตามออกมา จึงพยายามทำหลักสูตรให้เป็นรูปธรรมมากที่สุดที่มาhttp://gamoback.blogspot.com/2010/08/4.html
3. การออกแบบหลักสูตร (Curriculum Design) หลักสูตรสามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรจึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่สภาพสังคมเปลี่ยนไป การจัดการศึกษาต้องสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลง การพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการของการตัดสินใจเลือกหาทางเลือกทางการเรียนการสอนที่เหมาะสม การเรียนการสอนในปัจจุบันถึงแม้จะได้พยายามจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่ผลที่ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะยังมีผู้เรียนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดไว้ คือ มีความรู้ในด้านต่างๆไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือยังขาดทักษะในด้านต่างๆ ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรจะดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมายของการพัฒนาอย่างแท้จริงเราต้องคำนึงถึงหลักการใน 3 ประเด็นดังนี้
 1. มาตรฐานการเรียนรู้สู่หลักสูตร 2. การนำหลักสูตรมาใช้ 3. การประเมินหลักสูตร 
1. มาตรฐานการเรียนรู้ บ่งบอกถึงสิ่งที่คาดหวังหรือจุดหมายไว้อย่างชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการให้นักเรียนทุกคนรู้และปฏิบัติได้ ทั้งช่วยให้ทราบถึงผลปฏิบัติที่คาดหวังจากการเรียน ช่วยให้นักเรียนพัฒนาการเรียนของตนและช่วยให้เกิดความเท่าเทียมกันในการเรียนรู้ หลักสูตรแบบอิงมาตรฐานจะช่วยให้การสอนของครูมีเป้าหมายที่ชัดเจน ช่วยให้นักการศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง สื่อสารเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน หลักสูตรและการประเมินผลการเรียนจะสะท้อนถึงมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด กิจกรรมการเรียนการสอนและหน่วยการเรียนรู้ต้องเชื่อมโยงและสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็ต้องสนองความสนใจและความต้องการของนักเรียน และชุมชน 
2. การนำหลักสูตรมาใช้ ต้องใช้วิธีสอนที่หลากหลายและเหมาะสมกับนักเรียน การสร้างหน่วยการเรียนรู้ไม่ได้หมายความว่าต้องคิดเองทั้งหมด เราอาจเริ่มจากหน่วยการเรียนที่มีอยู่แล้วหรือเริ่มจากความสนใจ คำถามหรือข้อสงสัยของนักเรียน แต่ในสิ่งที่ดีเราน่าจะเริ่มจากมาตรฐานการเรียนรู้ หน่วยการเรียนรู้จะมุ่งเน้นมาตรฐานที่เป็นเป้าหมายของหน่วยการเรียนเป็นสำคัญ มาตรฐานที่กำหนดไว้ในหน่วยช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อเรียนจบหน่วยการเรียนแล้ว นักเรียนทุกคนจะมีความรู้และทักษะตามที่มาตรฐานกำหนด การสร้างหน่วยการเรียนควรมีขั้นตอนดังนี้ 1) กำหนดหัวเรื่องของหน่วยการเรียนให้น่าสนใจ เชื่อมโยงกับมาตรฐาน และสอดคล้องกับชีวิตประจำวันและสังคม 2) เลือกมาตรฐานการสอนและการประเมิน 3) เลือกกิจกรรมการเรียนการสอน เพราะจะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ มีทักษะและมีพัฒนาการด้านจิตใจ และสิ่งสำคัญกิจกรรมนั้นๆต้องสามารถนำนักเรียนไปสู่มาตรฐานที่กำหนดเป็นเป้าหมายในหน่วยการเรียนนั้นได้ 
3. การประเมินหลักสูตร หลังจากนำหลักสูตรมาใช้แล้ว เราก็ต้องประเมินหลักสูตร การประเมินหลักสูตรนั้นเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นว่าการนำหลักสูตรไปใช้จะบรรลุผลมากน้อยเพียงใด ผลที่ได้จากกการประเมินหลักสูตร เป็นข้อมูลในการตัดสินใจแก้ไขและปรับปรุงหลักสูตร การประเมินหลักสูตร ที่มา http://axkapon17.igetweb.com/index.php?mo=59&action=page&id=732399
4. พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา ด้านจิตวิทยา และด้านสังคม (Social Foundation of Curriculum)
1. พื้นฐานทางด้านปรัชญาการศึกษา หมายถึง อุดมคติ อุดมการณ์อันสูงสุดซึ่งยึดเป็นหลักในการจัดการศึกษา มีบทบาทในการเป็นแม่บทเป็นต้นกำเนิดความคิดในการกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษา และเป็นแนวทางในการจัดการศึกษา ตลอดจนกระบวนการในการเรียนการสอนปรัชญาการศึกษาต่าง ๆ มีดังนี้
ปรัชญาสารัตถนิยมหรือสาระนิยม (essentialism) ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาทั่วไปสาขาจิตนิยม (idealism) และสัจนิยม (realism) ถือว่าบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นเครื่องมือของสังคม ต้องอุทิศตนเพื่อสังคม และสืบทอดวัฒนธรรมของสังคมให้คงอยู่ต่อไป การจัดการศึกษาตามแนวคิดนี้ เป็นการถ่ายทอด และอนุรักษ์วัฒนธรรมของสังคม เพราะเห็นว่า สิ่งที่นำมาสอนนั้น ดีงาม ถูกต้อง ดีแล้ว เนื้อหาจากง่ายไปสู่สิ่งที่ซับซ้อน จากรูปธรรมไปสู่นามธรรม จัดการเรียนรู้จะยึดครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง เน้นการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียน รับรู้และจำ คำนึงถึง เนื้อหาสาระมากกว่าความแตกต่างระหว่างบุคคล วิธีสอนที่ใช้มากคือการบรรยายหรือการพูดของครู
ปรัชญานิรันตรนิยม (parennialism) เชื่อว่า สิ่งที่มีความคงทนถาวร ย่อมเป็นสิ่งที่ดีงามเป็นจริงมากกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ การจัดการศึกษาจึงควรให้เรียนในสิ่งที่ดีงาม มั่นคง มีเสถียรภาพ เนื้อหาวิชาที่เรียนจะเป็นวิชาที่พัฒนาเชาวน์ปัญญาและจิตใจ ถือความสำคัญของมนุษย์และเตรียมตัวเพื่อการดำรงชีวิต การจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนทุกคนเรียนเหมือนกันหมด วิธีสอนใช้การฝึกฝนทางปัญญา เช่น การอ่าน การเขียน การฝึกทักษะ การท่องจำ การคำนวณ และการถามตอบ
ปรัชญาพิพัฒนาการนิยม หรือปรัชญาพิพัฒนนิยม หรือปรัชญาวิวัฒนาการนิยม (progressivism)ปรัชญานี้ถือว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือของสังคมในการถ่ายทอดวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลัง เชื่อว่าการศึกษาเป็นชีวิตมากกว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต ส่งเสริมวิธีการแบบประชาธิปไตย การจัดการศึกษา จะมุ่งส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกด้าน เน้นการปฏิบัติจริง และความสัมพันธ์กับสภาพจริง การจัดการเรียนรู้ยึด ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง กระบวนการจัดการเรียนรู้มีหลายลักษณะยึดหลักความสนใจของผู้เรียนที่จะแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ วิธีการใช้มากคือ การทำโครงการ การอภิปรายกลุ่ม และการแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล
ปรัชญาอัตนิยม หรือปรัชญาอัตถิภาวนิยม หรือปรัชญาสวภาพนิยม(existentialism) เชื่อว่า ธรรมชาติของคน สภาพแวดล้อมทางสังคมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ทุกคนสามารถกำหนดชีวิตของตนเอง เน้นการอยู่เพื่อปัจจุบัน การปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคม เผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ได้ จัดการศึกษาจึงให้ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ การตัดสินใจ สอนให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพในการเรียน มีความรับผิดชอบในตนเอง ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทาง การจัดการเรียนรู้เน้นพัฒนาการของผู้เรียนแต่ละคน วิชาที่เรียนเป็นวิชาที่พัฒนาความสามารถของบุคคลเฉพาะ ลงไป เช่น ศิลปะ ปรัชญา วรรณคดี การเขียน การละคร
ปรัชญาปฏิรูปนิยม(reconstructionism) เชื่อว่า การศึกษาควรเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแลงสังคมโดยตรง เน้นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างสังคมให้ดี รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคม ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ผู้เรียนต้องหาประสบการณ์ด้วยตนเองให้มาก การจัดหลักสูตรยึดอนาคตเป็นศูนย์กลาง มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถและทัศนคติที่จะออกไปปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้น ส่งเสริมให้ผู้เรียนสำรวจความสนใจและความต้องการของตนเอง ใช้วิธีสอนแบบให้ผู้เรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เน้นการอภิปราย การแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาของสังคม และให้ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปสังคม
ในปัจจุบันนี้การพัฒนาหลักสูตรมักเป็นการผสมผสาน ลักษณะของปรัชญาหลาย ๆ ปรัชญาเข้าด้วยกันมิได้ร่างหลักสูตรขึ้นมาตามแนวปรัชญาใดปรัชญาหนึ่ง เนื่องจากแนวคิดของแต่ละปรัชญามีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนั้นนักพัฒนาหลักสูตรจึงเลือกนำแนวคิดจากปรัชญา ต่าง ๆ มาผสมผสานและเลือกใช้ตามความเหมาะสม เรียกว่า ปรัชญาการศึกษาผสมผสาน(electicism) เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมหลาย ๆ ด้านพัฒนาผู้เรียนให้สมบูรณ์และสมดุล และสอดคล้องกับความต้องการของสังคม
2. พื้นฐานทางด้านจิตวิทยา นักพัฒนาหลักสูตรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของจิตวิทยา โดยเฉพาะ จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) และจิตวิทยาการเรียนรู้ (psychology of learning) จิตวิทยาทั้ง 2 สาขานี้จะเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตรโดยตรง จิตวิทยาพัฒนาการจะบอกถึงพัฒนาการของมนุษย์ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และเชาวน์ปัญญา ทำให้ทราบถึงความสามารถ ความสนใจ ความต้องการ เจตคติ และศักยภาพด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันของผู้เรียนแต่ละคนองค์ประกอบของพัฒนาการของมนุษย์ มี 2 ประการคือ
1. วุฒิภาวะ (maturity) หมายถึง กระบวนของความเจริญเติบโตสูงสุดของอินทรีย์ในร่างกายที่ทำให้เกิดความพร้อมที่จะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้นโดยไม่ต้องอาศัยการฝึกฝนหรือเรียนรู้ใด ๆ หรือเป็นไปโดยธรรมชาติ
2. การเรียนรู้ (learning) เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันเป็นผลมาจาก ประสบการณ์ การเรียนรู้อาจเกิดขึ้นด้วยการจูงใจ หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจก็ได้ พัฒนาการและการเจริญเติบโตของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ 1. พัฒนาการทางด้านร่างกาย (physical development) เป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านโครงสร้างทั้งขนาดรูปร่าง และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย 2. พัฒนาการทางด้านสติปัญญา (mental development) เป็นความเจริญงอกงามที่บ่งบอกถึงการเพิ่มพูนความสามารถในการประกอบกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และรวบรวมความรู้ความเข้าใจไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นพัฒนาการทางด้านความคิด ความจำ และความเข้าใจ 3. พัฒนาการทางด้านอารมณ์ (emotion development) เป็นพัฒนาการทางด้านความรู้สึกและทัศนคติของบุคคล 4. พัฒนาการทางด้านสังคม (social development) เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของบุคลตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เป็นความสามารถของบุคคลในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคม และวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่ตลอดถึงการพัฒนาทางด้านบุคลิกภาพ และพัฒนาการทางด้านศีลธรรมด้วยข้อมูลทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการจะทำให้ได้แนวคิดในการจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียน เช่นการวางหลักสูตรต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ระดับพัฒนาการของ ผู้เรียนแต่ละวัย ที่มา http://www.learners.in.th/blogs/posts/411499
3. พื้นฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม การศึกษาจะช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่พึงปรารถนา เพราะฉะนั้นหลักสูตรที่จะนำไปสอนอนุชนเหล่านั้นจึงต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมอย่างแยกไม่ออก และโดยธรรมชาติของสังคมและวัฒนธรรมมักมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
1. โครงสร้างของสังคม ของสังคมไทยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือสังคมชนบทหรือสังคมเกษตรกรรม และสังคมเมืองหรือสังคมอุตสาหกรรม การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นจะต้องศึกษาโครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มโครงสร้างสังคมในอนาคตเพื่อที่จะได้รับข้อมูลมาจัดหลักสูตรว่า จะจัดหลักสูตรอย่างไรเพื่อยกระดับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมและเตรียมพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมตามความจำเป็น 2. ค่านิยมในสังคม คือ สิ่งที่คนในสังคมเดียวกันเห็นว่ามีคุณค่าเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากการศึกษาเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ค่านิยมชนิดไหนควรจะได้รับการเปลี่ยนแปลงหรือดำรงไว้หรือค่านิยมไหนควรจะสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
3. ธรรมชาติของคนไทยในสังคม ในการพัฒนาหลักสูตร ควรคำนึงถึงลักษณะธรรมชาติ บุคลิกของคนในสังคม โดยศึกษาพิจารณาว่าบุคลิกใดควรจะคงไว้ ลักษณะใดควรจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พึงประสงค์ของสภาพสังคมปัจจุบัน เพื่อที่จะจัดการศึกษาในอันที่จะสร้างบุคลิกลักษณะของคนในสังคมตามที่สังคมต้องการ เพราะหลักสูตรเป็นแนวทางในการสร้างลักษณะสังคมในอนาคต
4. การชี้นำสังคมในอนาคต การศึกษาควรมีบทบาทในการชี้นำสังคมในอนาคต เพราะในอดีตระบบการศึกษา และระบบการพัฒนาหลักสูตรเป็นไปในลักษณะของการตั้งรับมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้นักพัฒนาหลักสูตรจึงควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือชี้นำสังคมในอนาคต เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรที่สามารถนำไปใช้จัดการเพื่อสร้างสังคมในอนาคตที่ต้องการ มิใช่มีบทบาทเป็นผู้ตามและผู้แก้ปัญหาสังคมดังอดีตและปัจจุบัน
5. ลักษณะสังคมตามความคาดหวัง การเตรียมพัฒนาทรัพยากรให้มีคุณภาพมีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นเรื่องไม่คงที่ เรื่องที่จะส่งผลกระทบถึงการศึกษามีมากมาย นักพัฒนาหลักสูตรควรจะได้ศึกษาข้อมูลหรือมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เพื่อที่จะสามารถคาดเดาได้ว่าสภาพสังคมในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร แม้จะเป็นการยากแก่การพยากรณ์แต่เป็นทางที่จะช่วยผลิตประชากรให้แก่สังคมได้อย่างสอดคล้องตามนโยบายการศึกษาของชาติ
6. ศาสนาและวัฒนธรรมในสังคม ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคมวัฒนธรรมเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญที่จะแสดงให้ทราบว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนในสังคมเดียวกัน ดังนั้น ศาสนาและวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการพัฒนาหลักสูตร เพราะจุดประสงค์ของหลักสูตร คือ การทะนุบำรุงรักษาและถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ดีงามไว้ การพัฒนาหลักสูตรจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงศาสนาและวัฒนธรรม ความรู้และหลักธรรมทางศาสนาต่างๆ ที่มา http://www.learners.in.th/blogs/posts/284183
5. ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning Theory) การเรียนรู้ หมายถึงการเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่คนเรามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือจากการฝึกหัด ครูมีหน้าที่จัดประการณ์ในห้องเรียน เพื่อจะช่วยให้นักเรียนเปลี่ยนพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์ของแต่ละบทเรียน นักจิตวิทยาได้พยายามทำการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของทั้งสัตว์และมนุษย์ และได้ค้นพบหลักการที่ใช้ประยุกต์ เพื่อการเรียนรู้ในโรงเรียนได้ ทฤษฎีของการเรียนรู้มีหลายทฤษฎีแต่จะขอนำมากล่าวเพียง 3 ทฤษฎี คือ
1. ทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยม ความคิดพื้นฐานของทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยม 1.พฤติกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นโดยการเรียนรู้และสามารถจะสังเกตได้ 2.พฤติกรรมแต่ละชนิดเป็นผลรวมของการเรียนที่เป็นอิสระหลายอย่าง 3.แรงเสริม (Reinforcement) ช่วยทำให้พฤติกรรมเกิดขึ้นได้ นักจิตวิทยาได้แบ่งพฤติกรรมของมนุษย์ออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. พฤติกรรมเรสปอนเดนต์ (Respondent Behavior) หมายถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยสิ่งเร้าเมื่อมีสิ่งเร้าพฤติกรรมตอบสนองก็จะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถจะสังเกตได้ ทฤษฎีที่อธิบายกระบวนการเรียนรู้ประเภทนี้ คือ ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (Classical Conditioning Theory)หรือ แบบสิ่งเร้า ผู้ค้นพบคือ อีวาน พาฟลอฟ (Ivan Pavlov, 1849–1936) นักสรีรวิทยาชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงมาก โดยได้ทำการ-ทดลองกับสุนัข
ทฤษฎีการเรียนรู้ 1. พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์เกิดจากการวางเงื่อนไขที่ตอบสนองต่อความต้องการทางธรรมชาติ 2. พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์สามารถเกิดขึ้นได้จากสิ่งเร้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งเร้าตามธรรมชาติ 3. พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์ที่เกิดจากสิ่งเร้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งเร้าตามธรรมชาติจะลดลงเรื่อย ๆ และหยุดลงในที่สุดหากไม่ได้รับการตอบสนองตามธรรมชาติ 4. พฤติกรรมการตอบสนองของมนุษย์สิ่งเร้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งเร้าตามธรรมชาติจะลดลงและหยุดไปเมื่อไม่ได้รับการตอบสนองตามธรรมชาติ และจะกลับปรากฏขึ้นได้อีกโดยไม่ต้องใช้สิ่งเร้าตามธรรมชาติ 5. มนุษย์มีแนวโน้มที่จะจำแนกลักษณะของสิ่งเร้าให้แตกต่างกันและเลือกตอบสนองได้ถูกต้อง
2. พฤติกรรมโอเปอแรนต์ (Operant Behavior) เป็นพฤติกรรมที่บุคคลหรือสัตว์แสดงพฤติกรรมตอบสนองออกมา โดยปราศจากสิ่งเร้าที่แน่นอน และพฤติกรรมนี้มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ ซึ่งมี สกินเนอร์ (B.F. Skinner) เป็นเจ้าของทฤษฎีสกินเนอร์ได้ทดลองการวางเงื่อนไขแบบโอเปอแรนท์กับหนูและนกในห้องทดลอง จนกระทั้งได้หลักการต่าง ๆ มาเป็นแนวทางการศึกษาการเรียนรู้และมีแนวคิดว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของมนุษย์จะคงอยู่ตลอดไป จำเป็นต้องมีการเสริมแรง ซึ่งการเสริมแรงนี้มีทั้งการเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) และการเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement)
ทฤษฎีการเรียนรู้ 1. การกระทำใด ๆ ถ้าได้รับการเสริมแรง จะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก ส่วนการกระทำที่ไม่มีการเสริมแรง แนวโน้มที่ความถี่ของการกระทำนั้นจะลดลงและหายไปในที่สุด 2. การเสริมแรงที่แปรเปลี่ยนทำให้การตอบสนองคงทนกว่าการเสริมแรงที่ตายตัว 3. การลงโทษทำให้เรียนรู้ได้เร็วและลืมเร็ว 4. การให้แรงเสริมหรือให้รางวัลเมื่อผู้เรียนกระทำพฤติกรรมที่ต้องการ สามารถช่วยปรับหรือปลูกฝังนิสัยที่ต้องการได้
2. ทฤษฎีการเรียนรู้พุทธิปัญญานิยม (Constructivism) มีหลักการว่า ในการเรียนรู้ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้กระทำ (active) และสร้างความรู้ ความเชื่อพื้นฐาน มีรากฐานมาจาก 2 แหล่ง คือจากทฤษฎีพัฒนาการของพีอาเจต์ และวิก็อทสกี้ ทฤษฎี Constructivism จึงแบ่งออกเป็น 2 ทฤษฎี คือ
1. Cognitive Constructivism ถือว่าผู้เรียนเป็นผู้กระทำ (active) และเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นในใจเอง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีบทบาทในการก่อให้เกิดความไม่สมดุลทางพุทธิปัญญาขึ้น เป็นเหตุให้ผู้เรียน ปรับความเข้าใจเดิมที่มีอยู่ให้เข้ากับข้อมูลข่าวสารใหม่ จนกระทั่ง เกิดความสมดุลทางพุทธิปัญญา หรือเกิดความรู้ใหม่ขึ้น
2. Social Constructivism ถือว่าผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น (ผู้ใหญ่หรือเพื่อน) ในขณะที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรืองาน ในสภาวะสังคม (Social Context) ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญและขาดไม่ได้ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมทำให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยการเปลี่ยนแปรความเข้าใจเดิมให้ถูกต้องหรือซับซ้อนกว้างขวางขึ้น ความคิดพื้นฐานของทฤษฎี 1.ผู้เรียนสร้างความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ด้วยตนเอง 2.การเรียนรู้สิ่งใหม่ขึ้นกับความรู้เดิมและความเข้าใจที่มีอยู่ในปัจจุบัน 3.การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ 4.การจัดสิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่คล้ายคลึงกับชีวิตจริง ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
ทฤษฎีการเรียนรู้ 1.. การจัดโครงสร้างของความรู้ให้มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก 2. การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความพร้อมของผู้เรียน และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนจะช่วยให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ 3. การคิดแบบหยั่งรู้ (intuition) เป็นการคิดหาเหตุผลอย่างอิสระที่สามารถพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้ 4. แรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ 5. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ แบ่งได้เป็น 3 ขั้น ใหญ่ๆ คือ 5.1 ขั้นการเรียนรู้จากการกระทำ (Enactive Stage) คือขั้นของการเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งต่างๆ การลงมือกระทำช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดี การเรียนรู้เกิดจากการกระทำ 5.2 ขั้นการเรียนรู้จากความคิด (Iconic Stage) เป็นขั้นที่เด็กสามารถสร้างมโนภาพในใจได้ และสามารถเรียนรู้จากภาพ แทนของจริงได้ 5.3 ขั้นการเรียนรู้สัญลักษณ์และนามธรรม (Symbolic Stage) เป็นขั้นการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้ 6. การเรียนรู้เกิดได้จากการที่คนเราสามารถสร้างความคิดรวบยอด หรือสามารถสร้างหรือสามารถจัดประเภทของสิ่งต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม 7. การเรียนรู้ที่ได้ผลดีที่สุดคือการให้ผู้เรียนค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (discovery learning)
3. ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมเชิงพุทธิปัญญา ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมเชิงพุทธิปัญญา (Social Cognitive Learning Theory) เป็นทฤษฎีของศาสตราจารย์บัน เชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนมากเป็นการเรียนรู้โดยการสังเกตหรือการเลียนแบบ และเนื่องจากมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ (interact) กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวอยู่เสมอ การเรียนรู้เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและสิ่งแวดล้อมในสังคม ซึ่งทั้งผู้เรียนและสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อกันและกัน ความคิดพื้นฐานของทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมเชิงพุทธิปัญญา 1. บันดูรา ได้ให้ความสำคัญของการปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนและสิ่งแวดล้อม และถือว่าการเรียนรู้ก็เป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและสิ่งแวดล้อม โดยผู้เรียนและสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อกันและกัน บันดูราได้ถือว่าทั้งบุคคลที่ต้องการจะ เรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุของพฤติกรรมและได้อธิบายการปฏิสัมพันธ์ ดังนี้ 2. บันดูรา ได้ให้ความแตกต่างของการเรียนรู้ (Learning) และการกระทำ (Performance) ว่าความแตกต่างนี้สำคัญมาก เพราะคนอาจจะเรียนรู้อะไรหลายอย่างแต่ไม่กระทำ บันดูราได้สรุปว่า พฤติกรรมของมนุษย์อาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท 2.1 พฤติกรรมสนองตอบที่เกิดจากการเรียนรู้ ผู้ซึ่งแสดงออก หรือ กระทำสม่ำเสมอ 2.2 พฤติกรรมที่เรียนรู้แต่ไม่เคยแสดงออกหรือกระทำ 2.3 พฤติกรรมที่ไม่เคยแสดงออกทางการกระทำ เพราะไม่เคยเรียนรู้จริง ๆ 3. บันดูรา ไม่เชื่อว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจะคงตัวอยู่เสมอ ที่มา http://www.kroobannok.com/35946
6. เนื้อหาหลักสูตร (Curriculum Content): Instructional Design, Curriculum Based Assessment หลักสูตรรูปแบบต่างๆ
1. หลักสูตรรายวิชาหรือหลักสูตรเนื้อหาวิชา (subject matter curriculum) เป็นรูปแบบการจัดหลักสูตรที่เก่าแก่ที่สุดและยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน หลักสูตรประเภทนี้ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาสารัตถนิยม (essentialism) และปรัชญาสัจวิทยานิยม (parennialism) ใช้วิธีสอนแบบบรรยายโดยมีครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง
2. หลักสูตรกว้างหรือหลักสูตรหมวดวิชา (broad field curriculum) เป็นรูปแบบหลักสูตรที่มีการผสมผสานความรู้ โดยรวมวิชาต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาสาระใกล้เคียงกันมารวมกันเป็นหมวดวิชาเดียวกัน เช่น หมวดวิชาคณิตศาสตร์จะรวมวิชา เลขคณิต พีชคณิต ตรีโกณมิติ เรขาคณิตไว้ด้วยกัน จัดการเรียนรู้ยึดครูเป็นศูนย์กลาง เน้นการถ่ายทอดเนื้อหาสาระ การวัดผลการเรียนรู้จึงมุ่งเน้นวัดความรู้ที่ได้เป็นหลัก
3. หลักสูตรสัมพันธ์วิชาหรือหลักสูตรแบบสหสัมพันธ์ (correlated curriculum) เป็นรูปแบบของหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดความสัมพันธ์กันของรายวิชาที่เกี่ยวข้องกัน โดยนำเอาเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ ที่สอดคล้องหรือส่งเสริมซึ่งกันและกันมาเชื่อมโยงเข้าหากันแล้ววิชาสอนเนื้อหาเหล่านั้นในคราวเดียวกัน แต่ถึงกระนั้นความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวิชาก็ยังคงอยู่ การจัดการเรียนการสอนยึดครูเป็นศูนย์กลาง การวัดผลการเรียนรู้ยังเน้นพัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญา
4. หลักสูตรแบบแกนกลาง หรือหลักสูตรแบบแกนร่วมกัน หรือหลักสูตรแบบแกน (core curriculum) หลักสูตรรูปแบบนี้จัดตามปรัชญาปฏิรูปนิยม (reconstructionism) เป็นการรวบรวมเนื้อหาความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนเข้าด้วยกันให้มีความสัมพันธ์และผสมผสาน กัน ให้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้และคำนึงถึงความต้องการของสังคมเป็นหลัก การจัดการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการแก้ปัญหา เข้าใจชีวิตและสังคม การวัดผลการเรียนรู้เน้นวัดพัฒนาการทุก ๆ ด้านของผู้เรียน
5. หลักสูตรแบบบูรณาการ (intergrated curriculum) เป็นหลักสูตรที่พัฒนามาจากหลักสูตรกว้างโดยนำเอาเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ มาหลอมรวมกัน ทำให้ความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวิชาหมดไป โดยรวมเอาประสบการณ์การเรียนรู้จากหลาย ๆวิชา มาจัดเป็นหมวดหมู่ของประสบการณ์เป็นการบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกัน จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่ต่อเนื่อง มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต และพัฒนาผู้เรียนในทุก ๆ ด้าน การจัดการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การวัดผลการเรียนรู้จะวัดพัฒนาการทุก ๆ ด้าน
6. หลักสูตรแบบเอกัตบุคคล (individualized curriculum) เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการ และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน การจัดหลักสูตรแบบนี้ทำให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถ และอัตราเร็วของแต่ละคน มีโอกาสเลือกได้มาก ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนแต่ละคนมีความรับผิดชอบ ให้ความสำคัญกับผู้เรียนรายบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองอย่างเป็นอิสระจากคนอื่น ครูผู้สอนจะจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียนแต่เพียงลำพังหรือร่วมกันจัดกับผู้เรียนก็ได้ ยึดหลักปรัชญา สวภาพนิยม (existentialism)
7. หลักสูตรแบบส่วนบุคคล(personalized curriculum) เป็นหลักสูตรที่ครูและนักเรียนวางแผนร่วมกันตามความเหมาะสมและความสนใจของผู้เรียน เรียกว่า สัญญาการเรียนเพื่อส่งเสริมและดึงเอาศักยภาพของผู้เรียนออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทำให้เกิดความยุติธรรมทางการศึกษามากขึ้น ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนการเรียน มีทางเลือกกิจกรรมการเรียนหลายด้าน เป็นการศึกษาที่ประกันได้ว่าผู้เรียนเกิด การเรียนรู้จริง สอดคล้องกับความต้องการ ความสามารถ ความสนใจของตนเองและชุมชน เป็นการจัดหลักสูตรโดยยึดหลักปรัชญาสวภาพนิยาม (existentialism)
8. หลักสูตรที่เน้นผู้เรียน(child – centered curriculum) หรือหลักสูตรที่ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (learner centred curriculum) หลักสูตรนี้คำนึงถึงความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเป็นหลักการ เน้นบทบาทของผู้เรียนในการเรียน ในหนึ่งวิชาอาจจะมีหลักสูตรที่แตกต่างกัน ออกไปทั้งในด้านเนื้อหากิจกรรมการเรียน สื่อการเรียนรู้ และการวัดประเมินผล การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ก็ต้องจัดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนทุกคนทุกกลุ่ม ดังนั้นหลักสูตรจึงต้องมีการกำหนดให้เลือกได้และเหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน การจัดหลักสูตรประเภทนี้ทำได้ยากมาก ต้องใช้ครูผู้สอนหลายรูปแบบ
9. หลักสูตรเพื่อชีวิตและสังคม หรือหลักสูตรที่ยึดกิจกรรมกระบวนการทางสังคมและการดำรงชีวิต (social process and life function curiiculum) การจัดหลักสูตรแบบนี้ยึดชีวิตจริงของผู้เรียนและสังคมเป็นหลัก เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข รวมทั้งมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมของสังคม จึงเป็นหลักสูตรที่ถูกคาดว่ามีคุณค่ามากที่สุดสำหรับผู้เรียน ยึดปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (progressivism) และปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (reconstructionism) เป็นแนวทางในการจัดหลักสูตร การจัดการเรียนรู้ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ครูทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา การประเมินผลการเรียนรู้จะประเมินผลในทุกด้าน
10 หลักสูตรประสบการณ์(experience curriculum) เป็นหลักสูตรที่เน้นประสบการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก มุ่งแก้ไขการเรียนรู้ที่ยึดครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่คำนึงถึงความต้องการและความสนใจของผู้เรียน หลักสูตรนี้ที่ยึดหลักการที่ว่า การเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์ และประสบการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ดังนั้นการจัดหลักสูตรจึงเน้นเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ผู้เรียนต้องรู้จักวิธีการแก้ปัญหาลงมือกระทำ วางแผนด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ด้วยการกระทำ (learning by doing) คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นการแก้ปัญหา ยึดปรัชญาการศึกษาแบบพิพัฒนาการ progressivism)
11. หลักสูตรกระบวนการ(the process approach curriculum) หลักสูตรนี้เน้นวิธีการมากกว่ารูปแบบ กล่าวคือหลักสูตรอาจเป็นแบบรายวิชาหรือแบบยึดปัญหาสังคมก็ได้ แต่วิธีการเรียนรู้จะเน้นกระบวนการ ดังนั้นการจัดหลักสูตรจะมุ่งการพัฒนาทักษะของกระบวนการเรียนรู้ซึ่งมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีระบบ ใช้การสังเกต ทดลอง จำแนก พยากรณ์ ฯลฯ ให้ผู้เรียนคิด ค้นคว้าหาความรู้ และฝึกปฏิบัติจนรู้แจ้ง ผู้เรียนจะเรียนรู้ไม่ใช่เนื้อหาวิชา แต่เป็นวิธีการต่าง ๆ
12. หลักสูตรเกณฑ์ความสามารถ(The competency – based curriculum) หลักสูตรรูปแบบนี้จัดทำขึ้นเพื่อความแน่ใจว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับหนึ่ง ๆนั้น จะมีทักษะและความสามารถในด้านต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้มุ่งเรื่องความรู้หรือเนื้อหา ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาแต่จะมุ่งในด้านทักษะ ความสามารถเจตคติและค่านิยม อันจะมีประโยชน์ต่อชีวิตปัจจุบันและอนาคตของผู้เรียน ในอนาคตถึงแม้ว่าความรู้ จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาไป แต่ผู้เรียนซึ่งเติบโตออกไปในสังคมก็ยังคงสามารถปรับตัวทันความต้องการของสังคมได้ ที่มา http://www.learners.in.th/blogs/posts/413865
7. ผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) นิยมเรียกว่า มาตรฐานคุณภาพ (Quality Standards) หรือที่เราคุ้นเคยว่า จุดประสงค์การเรียนรู้ 1.ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง มาตรา 20 แนวการจัดการศึกษาเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ ครอบคลุมสิ่งสำคัญ คือ 1.1 ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง ความสัมพันธ์กับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ สังคมโลก ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของสังคมไทย การเมืองการปกครอง 1.2 ความรู้และทักษะเกี่ยวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ภูมิศาสตร์ การจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม 1.3 ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย 1.4 ความรู้และทักษะด้านภาษา คณิตศาสตร์ 1.5 ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข มาตรา 4 ทวิ กำหนดให้จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและสติปัญญา ความรู้ คุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการครองชีวิตและการงาน สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มาตรา 4 ตรี ระบุว่าต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาไว้และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้จักพึ่งตนเอง เรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อจะได้รู้เท่าทันโลก มาตรา 23 กำหนดให้จัดหลักสูตรการศึกษาในส่วนสาระหลักที่เป็นแกนกลางของการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการศึกษาต่อการดำรงชีวิต ความเป็นคนไทยและความเป็นพลเมืองดีของชาติ ให้สถานศึกษามีหน้าที่จัดทำสระหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญญาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชนและสังคม ที่มา http://www.sahavicha.com/?name=blog&file=readblog&id=3515

8. กิจกรรมการเรียนรู้ (Learning Activities)
ความหมายของการเรียนรู้ ดังสาระที่ ทิศนา แขมมณี (2544) ได้กล่าวไว้ดังนี้ 1. การเรียนรู้เป็นงานเฉพาะบุคคล ทำแทนกันไม่ได้ ครูต้องเปิดโอกาสให้เขาได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง 2. การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาที่ต้องมีการใช้กระบวนการคิด สร้างความเข้าใจ ความหมายของสิ่งต่างๆ ครูควรกระตุ้นให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ 3. การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม เพราะในเรื่องเดียวกัน อาจคิดได้หลายแง่ หลายมุมทำให้เกิดการขยาย เติมเต็มข้อความรู้ ตรวจสอบความถูกต้องของการเรียนรู้ตามที่สังคมยอมรับด้วย ดังนั้นครูจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลอื่นหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ 4. การเรียนรู้เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน เป็นความรู้สึกเบิกบาน ครูควรสร้างภาวะที่กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ 5. การเรียนรู้เป็นงานต่อเนื่องตลอดชีวิต ขยายพรมแดนความรู้ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ครูควรสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการแสวงหาความรู้ไม่รู้จบ 6. การเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลง เพราะได้รู้มากขึ้นทำให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เป็นการพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับรู้ผลการพัฒนาของตัวเขาเองด้วย
จากความหมายของการเรียนรู้ที่กล่าวมา ครูจึงต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนี้ (1) ความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน (2) เน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก (3) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน (4) การจัดกิจกรรมให้น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ (5) ความเมตตากรุณาต่อผู้เรียน (6) การท้าทายให้ผู้เรียนอยากรู้ (7) ตระหนักถึงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ (8) การสร้างบรรยากาศหรือสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง (9) การสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ (10)การมีจุดมุ่งหมายของการสอน (11) ความเข้าใจผู้เรียน (12) การไม่ยึดวิธีการใดวิธีการหนึ่ง (13) มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งในด้านการจัดกิจกรรม การสร้างบรรยากาศ รูปแบบเนื้อหาสาระ เทคนิคและวิธีการ (14) การวางแผนการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ  ที่มา  http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center2_2.htm
ตัวอย่าง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integrated Learning Management) หมายถึง กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามความสนใจ ความสามารถ โดยเชื่อมโยงเนื้อหาสาระของศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สามารถนำความรู้ ทักษะและ เจตคติไปสร้างงาน แก้ปัญหาและใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง รูปแบบของการบูรณาการ (Model of integration) การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่พบโดยทั่วไปมีอยู่ 4 แบบ
1. การบูรณาการแบบสอดแทก (Infusion) การเรียนรู้แบบนี้ครูจะนำเนื้อหาของวิชาต่างๆ มาสอดแทรกในรายวิชาของตนเองเป็นการ วางแผนการสอนและทำการสอนโดยครูเพียงคนเดียว
2. การบูรณาการแบบขนาน (Parallel) การเรียนรู้แบบนี้ครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปต่างคนต่างสอนวิชาของตนเองแต่จะมาวางแผน ตัดสินใจร่วมกันว่าจะจัดแผนการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยมุ่งสอนในหัวเรื่อง (Theme) ความคิดรวบยอด (Concept) และปัญหา (Problem) เดียวกันในส่วนหนึ่ง
3. การบูรณาการแบบสหวิทยาการ (Multidiscipline) การเรียนรู้แบบนี้คล้ายกับแบบคู่ขนาน ครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปต่างคนต่างสอนวิชาของตน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเองเป็นส่วนใหญ่ มาวางแผนการสอนร่วมกันในการให้งานหรือโครงการที่มีหัวเรื่อง แนวคิดหรือความคิดรวบยอดและปัญหาเดียวกัน
4. การบูรณาการแบบข้ามวิชา (Transdisciplinary) การเรียนรู้แบบนี้ผู้สอนในรายวิชาต่างๆ จะมาร่วมกันสอนเป็นคณะ ร่วมกันวางแผน กำหนดหัวเรื่อง ความคิดรวบยอดและปัญหาเดียวกัน  ที่มา http://www.kroobannok.com/blog/3735 
9. การนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum Implementation) การนำหลักสูตรไปใช้เป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาหลักสูตร เป็นการนำอุดมการณ์ จุดหมายของหลักสูตร เนื้อหาวิชาและประสบการณ์การเรียนรู้ที่คัดสรรอย่างดีแล้ว ไปสู่ผู้เรียน นักพัฒนาหลักสูตรทุกคนต่างก็ยอมรับความสำคัญของขั้นตอนการนำหลักสูตรไปใช้ ว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าขั้นตอนอื่นใดทั้งหมด เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของหลักสูตรโดยตรง หลักสูตรแม้จะได้สร้างไว้ดีเพียงใดก็ตาม ยังไม่สามารถจะกล่าวได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้าหากว่าการนำหลักสูตรไปใช้ดำเนินไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ดีเพียงพอความล้มเหลวของหลักสูตรจะบังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นการนำหลักสูตรไปใช้จึงมีความสำคัญที่บุคคลผู้เกี่ยวข้องในการนำหลักสูตรไปใช้จะต้องทำความเข้าใจกับวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ความสามารถนำหลักสูตรไปใช้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดสมความมุ่งหมายทุกประการ
หลักการของการนำหลักสูตรไปใช้ 1. การนำไปใช้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ระยะสั้นและระยะยาว 2. มีการติดตามผล และปรับปรุงพัฒนา เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขี้น 3. ต้องมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางด้านวิชาชีพครู ในทุกด้าน 4. ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรในระดับต่างๆ มีหน่วยงานที่พร้อมให้ความช่วยเหลือในด้านเทคนิควิธี 5. เมื่อพบปัญหาในการนำไปใช้ ควรดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดจากการนำหลักสูตรไปใช้โดยวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุในทุกส่วน ที่มีความเกี่ยวข้อง 6. สร้างแผนงานที่จะนำหลักสูตรไปใช้ 7. ผลงานของการนำหลักสูตรไปใช้ ต้องพิจารณาถึงความก้าวหน้าและประโยชน์ที่ได้รับ ก่อให้เกิดกำลังใจในการทำงาน
บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการนำหลักสูตรไปใช้ 1. นักวิชาการ นักวิชาการและศึกษานิเทศก์ให้บุคคลที่ให้การสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ ประสานงาน ให้คำแนะนำ 2. ผู้บริหารโรงเรียน ให้การสนับสนุนการนำหลักสูตรไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตร สามารถบริหารหลักสูตร 3. หัวหน้าหมวด ดำเนินการส่งเสริมการใช้หลักสูตรต้องมีความเข้าใจหลักสูตรในสาระที่ตนรับผิดชอบ และวางแผนดำเนินงานการใช้ระดับของตนเองได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ 4. ครูผู้สอน ในฐานะเป็นผู้ใช้หลักสูตรโดยตรงและโดยอ้อมคือเข้าร่วมพัฒนาหลักสูตรในระดับต่างๆ และเป็นผู้ติดตามการใช้หลักสูตรอย่างใกล้ชิด 5. บุคลากรอื่น ทั้งภายในสถานศึกษาและภายนอกสถานศึกษา ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนการใช้หลักสูตร และเสนอแนะความคิดเห็น  ที่มา http://www.gotoknow.org/posts/206800
10.การประเมินหลักสูตร (Curriculum Evaluation) คิอ การรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินหาข้อบกพร่องหรือปัญหา เพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขส่วนประกอบทุกส่วนของหลักสูตรให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ผลที่ได้จากการประเมินจะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป
ระยะของการประเมินหลักสูตร ควรมีการดำเนินเป็นระยะๆ ทั้งนี้เนื่องจากข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดของหลักสูตร อาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยและในระยะต่างกัน โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 3 ระยะคือ
ระยะที่ 1 การประเมินหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้ (Project Analysis) สามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ 1. ประเมินหลักสูตรเมื่อสร้างหลักสูตรฉบับร่างเสร็จแล้วก่อนจะนำหลักสูตรไปใช้จริง ควรมีการประเมินตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตรฉบับร่างและองค์ประกอบต่างๆของหลักสูตร การประเมินหลักสูตรในระยะนี้ต้องอาศัยความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาหลักสูตร ทางด้านวิชาชีพครู ทางด้านการวัดผล หรือจะให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์หรือพิจารณาก็ได้2. ประเมินผลในขั้นตอนทดลองใช้ เพื่อปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ขาดตกบกพร่องหรือเป็นปัญหาให้มีความสมบูรณ์เพื่อประสิทธิภาพในการนำไปใช้ต่อไป
ระยะที่ 2 การประเมินหลักสูตรระหว่างการดำเนินการใช้หลักสูตร (Formative Evaluation) ในขณะที่มีการดำเนินการใช้หลักสูตรที่จัดทำขึ้น ควรมีการประเมินเพื่อตรวจสอบว่า หลักสูตรสามารถนำไปใช้ได้ดีเพียงใดหรือบกพร่องในจุดไหน จะได้แก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสม
ระยะที่ 3 การประเมินหลักสูตรหลังการใช้หลักสูตร (Summative Evaluation) หลังจากที่มีการใช้หลักสูตรมาแล้วระยะหนึ่ง คือครบกระบวนการเรียบร้อยแล้ว ควรจะประเมินหลักสูตรทั้งระบบได้แก่ การประเมินองค์ประกอบด้านต่างๆของหลักสูตรทั้งหมด คือ เอกสารหลักสูตร วัสดุหลักสูตร บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร การบริหารหลักสูตรการนิเทศกำกับติดตาม การจัดกระบวนการเรียนการสอน ฯลฯ เพื่อสรุปผลตัดสินว่าหลักสูตรที่จัดทำขึ้นนั้นควรจะดำเนินการใช้ต่อไป หรือควรปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น หรือควรจะยกเลิก
หลักเกณฑ์ในการประเมินหลักสูตร
1. มีจุดประสงค์ในการประเมินที่แน่นอน การประเมินผลหลักสูตรจะต้องกำหนด ลงไปให้แน่นอนชัดเจนว่าประเมินอะไร 2. มีการวัดที่เชื่อถือได้ โดยมีเครื่องมือและเกณฑ์การวัดซึ่งเป็นที่ยอมรับ 3. ข้อมูลเป็นจริงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประเมินผล ดังนั้น ข้อมูลจะต้องได้มา อย่างถูกต้องเชื่อถือได้ และมากพอที่จะใช้เป็นตัวประเมินค่าหลักสูตรได้ 4. มีขอบเขตที่แน่นอนชัดเจนว่าเราต้องการประเมินในเรื่องใดแค่ไหน 5. ประเด็นของเรื่องที่จะประเมินอยู่ในช่วงเวลาของความสนใจ 6. การรวบรวมข้อมูลมาเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ และกำหนดเครื่องมือในการ ประเมินผลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 7. การวิเคราะห์ผลการประเมินต้องทำอย่างระมัดระวังรอบคอบ และให้มีความ เที่ยงตรงในการพิจารณา 8. การประเมินผลหลักสูตรควรใช้วิธีการหลายๆวิธี 9. มีเอกภาพในการตัดสินผลการประเมิน 10. ผลต่างๆที่ได้จากการประเมินควรนำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตร ทั้งในด้าน การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในโอกาสต่อไป เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ดี และมีคุณค่าสูงสุดตามที่ต้องการ 11. ต้องถือปฏิบัติสืบเนื่องสม่ำเสมอตลอดเวลา
ขั้นตอนการประเมินหลักสูตร สามารถแบ่งได้ 5 ขั้นตอน ประกอบไปด้วย การเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน, การประเมินบริบท, การระบุประเด็นสำหรับการประเมิน, พัฒนารูปแบบการประเมิน และดำเนินการประเมิน ที่มา  http://library.uru.ac.th/bookonline/books%5Clugsut7.pdf

ติดตามเรื่องราวได้ ที่นี่http://developcuriculumsu.blogspot.com/